มด



มด


1.  วงจรชีวิต 

มดเป็นแมลงที่มีการเจริญเติบโตแบบสมบูรณ์  (complete metamorphosis)  ในวงจรชีวิตประกอบด้วยไข่  ตัวอ่อน  ดักแด้  และตัวเต็มวัย


2  ลักษณะที่สำคัญ
 
มดมีลักษณะเหมือนกับแมลงกลุ่มอื่น ๆ  คือสามารถแบ่งลำตัวออกได้เป็น  3  ส่วน  ได้แก่  ส่วนหัว  ส่วนอก  และส่วนท้อง  แต่ละส่วนจะมีอวัยวะหรือลักษณะที่สำคัญต่าง ๆ  ปรากฎอยู่ลักษณะเหล่านี้จะแตกต่างกันไปในมดแต่ละกลุ่ม  ลักษณะของมดแตกต่งจากแมลงชนิดอื่น  คือ  จะมีหนวดหักแบบข้อศอก  (geniculate)  แบ่งออกเป็นส่วน  scape  และ  funicle  ในเพศเมียจำนวนปล้องหนวดจะมี  4-12  ปล้อง  ส่วนเพศผู้มี  9  ปล้อง  ปากเป็นแบบกัดกิน  มีฟันเรียกว่า  mandible  ท้องปล้องที่ 1  จะรวมกับอกปล้องที่ 3  เรียกว่า  propodeum  ท้องปล้องที่ 2  หรือ 3  มีลักษณะเป็นก้านเรียกว่า  abdomen pedicel  ซึ่งอาจจะมีปุ่มหรือไม่มีก็ได้  ส่วนท้องปล้องที่เหลือรวมเรียกว่า  gaster  มดเพศเมียบางชนิดจะมีเหล็กในยื่นออกมาให้เห็นจากปลายของส่วนท้อง  มดจะมีตารวมขนากใหญ่ 1 คู่  (compound eye)  บางชนิดมีตาเดี่ยว  (ocelli)  โดยทั่วไปจะมี 3 ตาอยู่เหนือระหว่างตารวม  ตาเดี่ยวจะไม่ได้ทำหน้าที่ในการรับภาพ
เนื่องจากมดเป็นแมลงสังคม  สมาชิกที่อยู่ในรังจะมีการแบ่งชั้นวรรณะแยกออกให้เห็นชัดเจน  ประกอบด้วย 

-  มดแม่รัง  ลักษณะทั่วไป  คือ  มีขนาดใหญ่กว่ามดตัวอื่น ๆ  ที่อยู่ในรัง  มีปีกอกหนา  ท้องใหญ่  และมักมีตาเดี่ยว  สามารถสืบพันธุ์ได้  ทำหน้าที่ในการวางไข่และสร้างรัง - มดเพศผู้  โดยทั่วไปจะมีปีก  ส่วนอกหนาแต่ไม่เท่าของมดแม่รัง  มีหน้าที่ผสมพันธุ์  จะพบเป็นจำนวนน้อยกว่ามดงานในแต่ละรัง

-  มดงาน  เป็นมดเพศเมียที่เป็นหมัน  ไม่มีปีก  ไม่มีตาเดี่ยว  เป็นมดที่ออกหาอาหาร  จะพบอยู่เสมอภายนอกรัง  นอกจากหาอาหารแล้วมดงานยังมีหน้าที่ในการสร้างรัง  รักษารัง  ดูแลตัวอ่อนและราชินีและป้องกันรังด้วย  มดงานบางชนิดสามารถแบ่งออกเป็น  มดงานที่มีรูปร่างแบบเดียว (monomorphic form)  มดงานที่มีรูปร่าง 2 รูปแบบ (dimorphic form : major worker; minor worker)  และมดงานที่มีรูปร่างหลายแบบ (polymorphic form)

  พฤติกรรม 
มดเป็นแมลงที่มีวิวัฒนาการสูง  กำเนิดมาช้านาน  เมื่อศึกษาจาก  fossil  นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามดมีกำเนิดเมื่อ  50  ล้านปีมาแล้ว  มดมีมากมายหลายชนิดแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในเขตต่าง ๆ  ยกเว้นแถบขั้วโลก  มดมีพฤติกรรมที่น่าสนใจหลาย ๆ ด้าน  ได้แก่ 



- พฤติกรรมการผสมพันธุ์และสร้างรัง  เมื่อมีประชากรภายในรังหนาแน่นมากและต้องการขยายรัง  สมาชิกในรังที่จะทำหน้าที่ผสมพันธุ์จะบินออกมาจากรังเดิมจับคู่กับมดจากรังอื่น  โดยมดงานจะขุดรูให้เป็นทางออกของแม่รังตัวใหม่  มดที่มีวิวัฒนาการสูงจะจับคู่และผสมพันธุ์บนที่สูง  เช่น  บนต้นไม้  ส่วนมดที่มีวิวัฒนาการต่ำจะผสมพันธุ์บนพื้นดิน  หลังจากนั้นราชินีจะหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างรังซึ่งจะแตกต่างกันออกไปแล้วแต่ชนิดของมดแล้วเริ่มต้นสร้างรังใหม่  เมื่อพบพื้นที่ที่เหมาะสมแล้วราชินีจะสลัดปีกออกและวางไข่  การวางไข่ครั้งแรกจะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ  โดยมดรุ่นแรกจะเป็นมดงาน  แม่รังจะทำหน้าที่หาอาหารมาเลี้ยงดูตัวอ่อนชุดแรกเองโดยการให้กินไข่ที่ไม่ได้รับการผสมพันธุ์  จนมดรุ่นแรก ๆ  นี้เจริญเติบโตเป็นมดงานทำหน้าที่ออกหาอาหาร  เมื่อมีมดงานตัวเต็มวัยมากขึ้น  ราชินี่จะทำหน้าที่วางไข่  และควบคุมพฤติกรรมภายในรังเพียงอย่างเดียว  ทั้งนี้ฤดูกาลและสภาพอากาศ  ซึ่งได้แก่  อุณหภูมิ  ความชื้น  มีอิทธิพลต่อการผสมพันธุ์  และเมื่อภายในรังมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น  ราชินีจะมีการผลิตมดเพศผู้และเพศเมียทำหน้าที่ผสมในรุ่นต่อไป 

-  พฤติกรรมการหาอาหาร  มดออกหาอาหารได้ทั้งกลางวันและกลางคืนและกินอาหารได้หลากหลาย  สามารถเป็นได้ทั้งตัวห้ำ (predator)  หรือเป็นพวกกินซาก (scavenger)  และจะกินได้ทั้งเมล็ดพืชหรือดูดกินอาหารที่เป็นของเหลว  มดงานบางชนิดสามารถเก็บอาหารที่เป็นของเหลวไว้ในกระเพาะจนเต็ม  แล้วนำกลับไปแจกจ่ายให้กับสมาชิกตัวอื่นในรังได้  โดยใช้วีสำรอกออกมาในเวลาไม่เกิน 20 ชั่วโมง

- พฤติกรรมการติดต่อสื่อสาร  มดมีการติดต่อสื่อสารโดยปล่อยสารที่เรียกว่า  ฟีโรโมน (pheromone)  ที่มดตัวอื่นจะรับการติดต่อได้โดยอาศัยหนวดและขาคู่หน้า  ฟีโรโมน  มีหลายชนิด  เช่น

  ฟีโรโมนนำทาง  (trail pheromone)  โดยมดจะปล่อยไว้ตามทางที่มันเดินผ่านไปเพื่อให้สมาชิกตามไปยังแหล่งอาหารได้ถูกต้องและเมื่อพบอาหารมาก ๆ  มดจะช่วยกันปล่อยฟีโรโมนทำให้มีมดเป็นจำนวนมากกรูมาที่อาหารอย่างรวดเร็ว

 ฟีโรโมนเตือนภัย  (Alarm pheromone)  พบว่าเมื่อปล่อยออกมาเป็นจำนวนน้อย ๆ  จะใช้สื่อสารด้านการเตือนภัย  แต่ถ้าปล่อยออกมาในปริมาณมาก ๆ  จะสามารถควบคุมพฤติกรรมบางอย่างได้ด้วย  เช่น  ให้เข้าโจมตีศัตรู  ขุดรู  และสารนี้จะไม่จำเพาะเจาะจงกับชนิดของมดเหมือนกับฟีโรโมนนำทาง

  ฟีโรโมนอื่น ๆ  มดจะปล่อยออกมาในเหตุการณ์ต่าง ๆ  เช่น  มดตัวอ่อนสามารถปล่อยฟีโรโมนกระตุ้นให้มดงานป้อนอาหารให้เมื่อมันรู้สึกหิว  หรือฟีโรโมนที่แม่รังปล่อยออกมาเพื่อควบคุมประชากรภายในรัง 

-  พฤติกรรมการใช้เสียง  มีรายงานว่ามดสามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยใช้เสียงเพื่อเป็นการเตือนภัย  เรียกสมาชิกให้มาอยู่รวมกันเมื่อพบศัตรู  หรือเรียกเพื่อน ๆ  มาช่วยเมื่อมีอันตราย


ความคิดเห็น